การชำระหนี้ของลูกหนี้ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
วันนี้ทนายเบียร์มีแนวทางการชำระหนี้ตามสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างไรให้ชอบด้วยกฎหมายอย่างมีสติ มาฝากครับ …
หัวข้อของเราในวันนี้คือ หน้าที่การชำระหนี้ของลูกหนี้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
โดยปกติลูกหนี้ยังคงมีหน้าที่ชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ต่อไป ไม่ใช่การชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย ตาม ป.พ.พ.มาตรา219 แต่ลูกหนี้สามารถอ้างเหตุขัดข้องชั่วคราวในการเลื่อนการชำระหนี้ซึ่งไม่ทำให้ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด
การชำระหนี้เป็นเงิน
กรณีการไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้ไม่เป็นเหตุขัดข้องชั่วคราวในการชำระหนี้ตามมาตรา205
โดยลำพังตัวเอง แต่ถ้าธุรกิจของลูกหนี้หรือสถานประกอบการถูกสั่งปิดตามกฎหมายหรือคำสั่งของรัฐ
ทำให้ไม่มีรายได้มาชำระหนี้ตามกำหนด เหตุนี้อาจเป็นเหตุขัดข้องชั่วคราว ที่ลูกหนี้สามารถอ้างได้ไม่ผิดนัดได้ (ฎีกา1768/2549) ค้นหาฎีกาได้ที่ http://deka.supremecourt.or.th/search
การชำระหนี้เป็นค่าเช่า
กรณีการสั่งปิดสถานที่ชั่วคราวของรัฐ ผู้เช่าไม่มีหน้าที่ตามกฎหมาย ที่จะต้องชำระค่าเช่าให้กับผู้ให้เช่า เพราะผู้ให้เช่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในส่วนของตน ตามหลักสัญญาต่างตอบแทน ป.พ.พ.มาตรา369 และเมื่อสถานการณ์กลับมาสู่ภาวะปกติ ผู้เช่าสามารถเข้าใช้พื้นที่เช่าได้แล้ว
ผู้เช่าก็ต้องชำระค่าเช่าต่อไปจนครบตามสัญญา (แต่ไม่ต้องชำระค่าเช่าในช่วงเวลาที่ไม่ได้ใช้พื้นที่)
การชำระหนี้เป็นบริการ
กรณีสัญญาเข้าใช้บริการต่างๆ เช่น จองโรงแรมที่พัก ตั๋วเครื่องบิน และบริการอื่นๆ ถ้าคู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ ลูกค้าซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายก็ไม่ควรชำระค่าบริการ ในช่วงเวลาที่ไม่สามารถใช้บริการดังกล่าวได้ ตามหลักสัญญาต่างตอบแทน ถ้าจ่ายไว้แล้วล่วงหน้าผู้ให้บริการก็ต้องคืน หรือขยายเวลาการให้บริการตามหลักสุจริต ซึ่งวางหลักอยู่ใน ป.พ.พ.มาตรา5 และมาตรา368