เขียนใบลาออก ลูกจ้างอาจพลาดสิ่งนี้

พฤษภาคม 13, 20200
เขียนใบลาออก ลูกจ้างอาจพลาดสิ่งนี้

สิทธิ 5 อย่างของลูกจ้างตามกฎหมาย เมื่อนายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรม รวมถึงลูกจ้าง” เขียนใบลาออก “โดยการบังคับหรือขู่เข็ญของนายจ้าง ซึ่งลูกจ้างไม่สมัครใจหรือยินยอมในการเขียนใบลาออก (ฎีกาที่4052/48)

1. เงินบอกกล่าวล่วงหน้าตามอัตราค่าจ้างสุดท้าย

ตามกฎหมายเขาจะเรียกว่า “สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า” หรือมักจะเรียกกันแบบไม่เป็นทางการว่า “ค่าตกใจ”
หลักกฎหมายตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่เกี่ยวข้องมาตรา 17 วรรคสอง ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน

 

2. เงินชดเชย

คือเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างตามอัตราค่าจ้างสุดท้าย “เงินชดเชย” ที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมายต่อเมื่อมีอายุงานตามเกณฑ์ที่กำหนดดังนี้ หลักกฎหมายตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่เกี่ยวข้องมาตรา 118

  • ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปีจ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน
  • ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน
  • ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน
  • ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน
  • ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10 ปี ขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน
  • ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 20 ปี ขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 400 วัน

 

3. เงินค่าเสียหาย

ที่นายจ้างไม่อาจเอาลูกจ้างกลับเข้าทำงานได้ดังเดิม เป็นสิทธิที่ลูกจ้างควรได้รับหากได้ทำงานต่อกับนายจ้าง ซึ่งเป็นกรณีไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ (ฎีกาที่ 8629/2550)
หลักกฎหมายตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนโดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณา”

 

4. ดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มระหว่างผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี

ซึ่งเป็นค่าจ้าง หรือเงินค้างจ่าย หรือเงินชดเชย ที่นายจ้างไม่จ่ายให้ลูกจ้างเมื่อมีการเลิกจ้าง หรือเลิกจ้างไม่เป็นธรรม หรือสินจ้างใดที่ต้องชำระให้ลูกจ้างนับแต่มีการเลิกจ้าง
หลักกฎหมายตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่เกี่ยวข้องมาตรา 9 ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนเงินประกันตาม มาตรา 10 วรรค 2 หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และ ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ภายในเวลาที่กำหนดตาม มาตรา 70 หรือ ค่าชดเชยตาม มาตรา 118 ค่าชดเชยพิเศษตาม มาตรา 120 มาตรา 121 และ มาตรา 122 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี
ในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรเมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ ถึงกำหนดคืนหรือจ่ายให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้ลูกจ้างร้อยละสิบห้า ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน

 

5. เงินทดแทนการว่างงาน

ถือว่าลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 กรณีถูกเลิกจ้างประกันสังคมจ่ายให้ลูกจ้างที่ว่างงาน 70% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน (หากลูกจ้างเขียนใบลาออกเองจะไม่ได้รับสิทธินี้คงมีสิทธิได้รับจากประกันสังคมจ่ายให้ลูกจ้างที่ว่างงาน 45% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน) สิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคม ต้องเป็นผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน และว่างงานมาไม่ต่ำกว่า 8 วัน ลูกจ้างยื่นคำขอเงินทดแทนนี้กับประกันสังคมได้ภายใน 2 ปี

 

ฎีกาที่ 8629/2550

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ได้กำหนดขั้นตอนให้ศาลแรงงานสั่งเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ สั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง แต่ถ้าศาลแรงงานเห็นว่า ลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ก็ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน ซึ่งการที่นายจ้างจะรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปนั้นมิใช่พิจารณาเพียงความสามารถของนายจ้างที่จะรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปเท่านั้นจะต้องพิจารณาด้วยว่า นายจ้างกับลูกจ้างนั้นมีความเข้าใจอันดีต่อกัน และจะสามารถกลับไปทำงานร่วมกันได้โดยไม่เป็นปัญหาแก่ทั้งสองฝ่าย หากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้จึงจะกำหนดค่าเสียหายให้แทน ซึ่งการกำหนดค่าเสียหายนี้ศาลแรงงานจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอย่างอื่นเกี่ยวกับลูกจ้างดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ประกอบการพิจารณาด้วย เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ในระหว่างการพิจารณาคดีโจทก์ได้ทำงานกับนายจ้างอื่นแล้วจึงไม่พิจารณาข้อที่โจทก์ขอกลับเข้าทำงานอีก เป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งศาลแรงงานจะต้องดำเนินการตามที่ พระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้โดยให้ศาลแรงงานกลางกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนการที่ศาลแรงงานกลาง วินิจฉัยว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแล้วไม่กำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โดยเห็นว่าจำเลยยินยอมจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และดอกเบี้ยแก่โจทก์แล้วประกอบกับที่โจทก์ได้งานใหม่ทำแล้วภายหลังถูกเลิกจ้างเพียงหนึ่งเดือนจึงไม่ได้รับความเสียหายนั้นเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

 

 

 

 

 

#ลูกจ้าง เขียนใบลาออก

 

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

http://www.beerseelawyer.com/ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง/

http://deka.supremecourt.or.th

http://legal.labour.go.th/2018/images/law/Protection2541/labour_protection_2541_new.pdf

แสดงความคิดเห็น

อีเมลของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่ กรุณากรอกข้อมูลในช่องที่มี *