ผ่อนรถไม่ไหว คืนรถ ต้องเสียค่าส่วนต่างหรือไม่
สวัสดีครับ ผมทนายเบียร์ศี เนื่องจากช่วงนี้มีประชาชนสอบถามเข้ามาทางไลน์และช่องทางอื่นๆจำนวนมากเกี่ยวกับปัญหาการผ่อนรถ ว่า ผ่อนรถไม่ไหว คืนรถ ต้องเสียค่าส่วนต่างหรือไม่ เพราะไฟแนนซ์เรียกเก็บค่าส่วนต่างหลักหมื่นหรือหลักแสนควรทำอย่างไรดี
สัญญาเช่าซื้อและการบอกเลิกสัญญา
สัญญาเช่าซื้อคือสัญญาที่เจ้าของทรัพย์สินผู้ให้เช่าซื้อเอาทรัพย์สินของตนออกให้ผู้เช่าซื้อได้ใช้สอยหรือเพื่อให้ได้ประโยชน์และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์นั้นหรือจะให้ทรัพย์สินที่เช่าตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าซื้อเมื่อได้ใช้เงินจนครบตามที่ตกลงไว้โดยการชำระเป็นงวดๆจนครบตามข้อตกลง ตามป.พ.พ. มาตรา 572 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นยังไม่ตกเป็นของผู้เช่าซื้อ หากผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาได้ ส่วนเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนให้ริบเป็นของผู้ให้เช่า และผู้ให้เช่ากลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ ตามป.พ.พ. มาตรา 574
การยึดรถ
เมื่อทำสัญญาเช่าซื้อกับผู้ให้เช่าซื้อ แล้วไม่สามารถผ่อนต่อได้ หากผู้เช่าซื้อขาดส่งค่างวดรถติดต่อกัน 3 งวด ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาแล้วมายึดรถกลับคืนไป โดยการส่งมอบรถเองของผู้ให้เช่าซื้อ กรณีดังกล่าวนี้ ผู้เช่าซื้อจะต้องเสียค่าส่วนต่างเมื่อผู้ให้เช่าซื้อนำรถที่ยึดไดันั้นไปขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่เพียงพอกับงวดที่ผู้เช่าซื้อค้างชำระในส่วนที่กู้ยืมกับผู้ให้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อมักจะสงสัยเมื่อมีหมายศาลมาปิดหน้าบ้านว่าผิดสัญญาเช่าซื้อและโดนฟ้องเรียกค่าส่วนต่าง ซึ่งผู้เช่าซื้อเข้าใจว่าคืนรถแล้วคงจบโดยไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งนี้ตามกฎหมายเมื่อผู้เช่าซื้อผิดสัญญาเช่าซื้อจะต้องชดใช้เงินส่วนต่างตามผู้ให้เช่าซื้อนั้นเรียกโดยไม่สามารถต่อสู้คดีได้
การคืนรถ
จำเป็นที่จะต้องคืนรถที่เช่าซื้อหรือไม่หากเราผิดสัญญากรณีที่ผ่อนไม่ไหว เมื่อผู้ให้เช่าซื้อจะมายึดรถที่บ้าน มี 2 กรณีคือ
1. หากรถอยู่ที่ผู้เช่าซื้อ การที่ผู้ให้เช่าซื้อจะมายึดรถได้นั้นไม่สามารถกระทำได้ แม้กฎหมายบอกว่าให้ผู้ให้เช่าซื้อเข้าครอบครองรถได้ก็ตาม ซึ่งการยึดรถนั้นจะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายในคดีแพ่ง โดยต้องมีการฟ้องผิดสัญญาเช่า แล้วมีคำขอให้คืนรถหรือคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาตามที่เสียหายและดอกเบี้ย พร้อมค่าปรับตามสัญญาเช่าซื้อ เมื่อผู้เช่าซื้อแพ้คดีหรือทำสัญญายอมหรือไม่ไปศาล ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องนำคำพิพากษาที่ชนะคดีไปดำเนินการบังคับคดีถึงจะยึดรถที่เช่าซื้อได้ ผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถเข้ามาในบ้านแล้วยึดรถได้แม้กรรมสิทธิ์ยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อก็ตาม (ฎีกา4256/34)
คำพิพากษาฎีกาที่ 4256/2534
จำเลยเอารถยนต์ของกลางของผู้เสียหายไปไว้ในครอบครองของจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันในการเช่าซื้อซึ่งภริยาจำเลยเช่าซื้อ ไปจากผู้เสียหาย และรถยนต์ของกลางยังคงอยู่ในครอบครองของจำเลยตลอดมา จำเลยมีหน้าที่จะต้องชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระและมีหน้าที่ จะต้องส่งคืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้เสียหาย การที่จำเลยเอารถยนต์ ของกลางไปขับรับจ้างขนส่งผู้โดยสารในต่างจังหวัด เช่นนี้ ผู้เสียหายชอบที่จะบังคับเอาทางแพ่งได้ การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นการเบียดบังทรัพย์อันจะเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์
2. หากรถไม่ได้อยู่กับผู้เช่าซื้อ ไม่ว่าจะเป็นการขายต่อ ขายฝาก จำนำ หรือแยกชิ้นส่วน กรณีนี้ถือว่าผู้เช่าซื้อไม่ได้ครองครองรถที่เช่าซื้อนั้นเอง เป็นการเบียดบังรถไปโดยทุจริตมีความผิดฐานยักยอกรถที่เช่าซื้อ เมื่อทำสัญญาเช่าซื้อรถและได้รับมอบรถที่เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อมีเพียงสิทธิครอบครองรถเท่านั้น กรรมสิทธิ์ในรถยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ ซึ่งในระหว่างที่ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบ หากผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจำหน่ายจ่ายโอน จึงอาจเข้าข่ายกระทำความผิดฐานยักยอก ตามป.อ. มาตรา 352 ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิยึดรถได้เลยเนื่องจากมีการกระทำความผิดอาญา ซึ่งแตกต่างกับกรณีข้อ1 ที่รถยังอยู่ในความครอบครองของผู้เช่าซื้อ (ฎีกา 7727/44) ส่วนนี้ทนายเคยให้ความรู้ไว้แล้วในบทความนี้ สามารถอ่านต่อได้ที่นี่นะครับ http://www.beerseelawyer.com/2020/05/01/ยักยอกทรัพย์รถยนต์/
คำพิพากษาฎีกาที่ 7727/2544
จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากบริษัท อ. โดยชำระเงินในวันทำสัญญาบางส่วน ที่เหลือผ่อนชำระเดือนละงวดรวม 36 งวด หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อและรับรถไปแล้วจำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ติดต่อกับผู้เสียหายอีกเลย บริษัท อ. จึงบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยไม่ส่งมอบรถคืน เมื่อสอบถามจำเลย จำเลยแจ้งว่าขายไปแล้ว ดังนี้ การที่จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อและชำระเงินล่วงหน้าก็เพื่อให้ได้รถยนต์ไปไว้ในครอบครอง มิได้มีเจตนาจะชำระราคาอีก พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของบริษัท อ. ที่อยู่ในครอบครองของจำเลยไปโดยทุจริตเป็นความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเพียงการกระทำผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่
ดังนั้นการที่บุคคลใดซึ่งครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย และเมื่อถึงเวลาแล้วเจ้าของกรรมสิทธิ์เรียกร้องให้คืนทรัพย์สินแล้วบุคคลนั้นไม่คืนให้ จะถือว่าบุคคลนั้นมีความผิดยักยอกเสียทีเดียวหาได้ไม่ ต้องพิจารณาว่าบุคคลนั้นได้กระทำการเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือเพียงแต่ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้ชั่วคราว ทั้งยังต้องพิจารณาว่าบุคคลนั้นมีเจตนาธรรมดาหรือมีเจตนาทุจริตในการกระทำความผิดหรือไม่ หากผู้ครอบครองทรัพย์สินไม่ได้กระทำการเบียดบังทรัพย์สิน หรือไม่มีเจตนากระทำความผิด ย่อมไม่เป็นความผิดอาญาฐานยักยอกแต่เป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น
หากไม่ต้องการเสียค่าส่วนต่างต้องทำอย่างไร
**วิธีการตามกฎหมายที่ผู้เช่าซื้อไม่ต้องเสียค่าส่วนต่างเมื่อคืนรถให้กับผู้ให้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องนำรถยนต์ไปคืนส่งมอบรถในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยและใช้การได้ดีในสภาพเช่นเดียวกับวันที่รับมอบรถไปจากผู้ให้เช่าซื้อก่อนที่จะผิดนัดครบ 3 งวด และผู้ให้เช่าซื้อยอมรับรถคืนแล้วนี้น ถือว่าสัญญาเช่าซื้อระงับสิ้นสุดลง เพราะคู่สัญญาสมัครใจเลิกสัญญากันเองด้วยการส่งมอบรถกลับคืนเจ้าของ ตามป.พ.พ. มาตรา 573 “ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง” เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันตามกฎหมาย โดยที่ผู้เช่าซื้อไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา หรือผู้ให้เช่าซื้อไม่ได้มายึดรถคันดังกล่าวเนื่องจากผู้เช่าซื้อไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา หากผู้ให้เช่าซื้อนำรถที่ผู้เช่าซื้อคืนไปขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่เพียงพอกับยอดหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ ค่าเสียหายส่วนต่างนี้ผู้เช่าซื้อไม่ต้องรับผิดชอบ อาจจะต้องรับผิดก็เพียงค่าเช่าซื้อค้างชำระแต่ละงวดที่เรายังไม่ได้ชำระผู้ให้เช่าซื้อ ก่อนวันที่จะนำรถยนต์ส่งมอบคืนเท่านั้น (ฎีกา4607/62)**
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2562
แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 จะให้สิทธิผู้เช่าซื้อในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียเมื่อใดก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้องส่งคืนและส่งมอบรถยนต์ในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยและใช้การได้ดีในสภาพเช่นเดียวกับวันที่รับมอบรถยนต์ไปจากเจ้าของพร้อมทั้งอุปกรณ์ และอะไหล่ทั้งหมดให้แก่เจ้าของ ณ สำนักงานของเจ้าของ แต่สัญญาข้อดังกล่าวยังระบุเงื่อนไขต่อไปอีกว่า “และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที…” แสดงให้เห็นว่า กรณีที่จะถือว่าเป็นการเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อดังกล่าว ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์พร้อมกับชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลาที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า นอกจากจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาแก่โจทก์ทันที อันเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาเพื่อใช้สิทธิเลิกสัญญา กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาข้อ 12 ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามสัญญาข้อ 13 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์โดยไม่ปรากฏข้อโต้แย้งคัดค้านของโจทก์ ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาอันเป็นค่าเสียหายตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อได้
ค้นหาฎีกาหรืออ่านฉบับเต็มได้ที่ https://deka.supremecourt.or.th/search
บทความที่เกี่ยวข้องกับรถ http://www.beerseelawyer.com/2020/05/01/ยักยอกทรัพย์รถยนต์/
ความคิดเห็น
วีระ เกิดพันธ์
ธันวาคม 23, 2020 at 12:00 pm
และถ้าผู้ให้เช่าซื้อไม่ยอมรับคืนล่ะผู้เช่าซื้อจะต้องทำอย่างไรครับ เช่นว่าเราเอารถไปคืนพร้อมกุญแจรถครบตามที่ได้รับพร้อมค่างวดค้างชำระ1งวดรวมค่าติดตามหรืออื่นๆ พร้อมหนังสือสัญญาเช่าซื้อ แต่ถ้าผู้ให้เช่าซื้อไม่ยอมเซ็นรับคืนรถเราจะทำอย่างไรครับ
admin
เมษายน 25, 2021 at 1:43 pm
ไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ และลงบันทึกประจำไว้ ฟังรายละเอียดเพิ่มเติมในไลฟ์ได้ นาทีที่ 44 เป็นต้นไป https://fb.watch/55aVnjRj03/