บุตรนอกสมรส มีสิทธิเสมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

พฤษภาคม 16, 20200
บุตรนอกสมรส มีสิทธิเสมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

บุตรที่เกิดจากสามีภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส(บุตรนอกสมรส) มีสิทธิเสมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

บุตรนอกสมรส คือ บุตรที่เกิดแก่บิดากับมารดา ที่อยู่กินกันเป็นสามีภริยา โดยมิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย (แม้จัดพิธีมงคลสมรสใหญ่โต หรือพาออกสังคมแสดงตนว่าเป็นสามีภรรยากันก็ตาม)  ซึ่งบุตรที่เกิดมานี้ จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดาแต่เพียงผู้เดียว ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1546 และความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับบุตรนอกสมรสนั้น กฎหมายไม่นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบิดาและบุตร (ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1561-1584/1) มาใช้บังคับ เพราะไม่ใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา

บุตรนอกสมรสกลายเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา มี 3 วิธี (ป.พ.พ. มาตรา 1547) คือ
1) บิดามารดาจดทะเบียนสมรสกัน บุตรจะมีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่วันที่บิดามารดาจดทะเบียนสมสรกัน
2) บิดายื่นขอจดทะเบียนรับรองบุตร จะต้องให้บุตรและมารดาบุตรยินยอม (แต่ไม่จำเป็นต้องให้คู่สมรสของฝ่ายชายต้องยินยอมด้วย)
3) มีคำพิพากษาจากศาลว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนกรณีของบุตรที่บิดาได้รับรองว่าเป็นบุตร (โดยพฤตินัย มิได้จดทะเบียนรับรองบุตร) เช่น การแจ้งเกิด การให้ใช้นามสกุล การส่งเสียอุปการะเลี้ยงดู หรือการแสดงเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปว่าเป็นบุตรของตน เป็นต้น ซึ่งบุตรนอกสมรสที่บิดารับรองแล้วนี้ จะเกิดสิทธิและหน้าที่กันตามกฎหมายระหว่างบุตรและบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ปัจจุบันนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานว่า “เฉพาะในเรื่องสิทธิในการรับมรดก ไม่จำเป็นต้องให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาก่อน เพียงแต่มีพฤติการณ์ว่าบิดาเคยให้การรับรองว่าเด็กเป็นบุตรของตนไว้อย่างไร บุตรนอกกฎหมายหรือบุตรนอกสมรสนั้นก็ถือว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของบิดาได้” (คำพิพากษาฎีกาที่ 452/2553 การที่จำเลยให้ผู้เยาว์ใช้ชื่อสกุลของจำเลย และอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์อย่างบิดากับบุตร ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้ผู้เยาว์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยได้ จำเลยจึงไม่มีอำนาจปกครองผู้เยาว์)

บุตรนอกสมรสที่บิดายังมิได้จดทะเบียนรับรองบุตร แต่มีพฤติการณ์เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าเป็นบุตรนั้น มาตรา 1627 บัญญัติให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเสมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิเพียงรับมรดกบิดาได้ตามมาตรา 1629(1) เท่านั้น ส่วนบิดาไม่มีกฎหมายบัญญัติให้มีสิทธิและหน้าที่ต่อบุตรนอกสมรสที่ยังมิได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรแต่ประการใด ดังนี้ บุตรนอกสมรสที่บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร กับ บุตรนอกสมรสที่บิดารับรอง จึงมีสิทธิเหมือนกันซึ่งบุตรนอกสมรสที่บิดารับรอง(โดยพฤตินัย) แล้ว ก็คงมีสิทธิได้รับมรดกในฐานผู้สืบสันดานเช่นกัน

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 452/2553

ป.พ.พ มาตรา 1547 บัญญัติว่า เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกันจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ดังนี้ พฤติการณ์รับรองว่าผู้เยาว์เป็นบุตร เช่น การให้ผู้เยาว์ใช้ชื่อสกุลของจำเลย และการที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์อย่างบิดากับบุตรจึงไม่ใช่เหตุที่กฎหมายรับรองทำให้ผู้เยาว์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยได้ จำเลยจึงไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์

 

#บุตรโดยชอบตามกฎหมาย #จดทะเบียนสมรส #ทนายความ #ทนายความมืออาชีพ #ที่ปรึกษากฎหมาย

http://www.beerseelawyer.com/ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง/

http://deka.supremecourt.or.th/search

แสดงความคิดเห็น

อีเมลของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่ กรุณากรอกข้อมูลในช่องที่มี *